×

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย > บทความทางวิชาการ > ธรณีวิทยาปิโตรเลียม > รอยตีนทวดไดโนเสาร์ (2) ตอน กิ้งก่าพืชผู้น่าสงสาร

รอยตีนทวดไดโนเสาร์ (2) ตอน กิ้งก่าพืชผู้น่าสงสาร

หน้าผารอยตีนสัตว์โบราณที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์นั้น มีวิวัฒนาการของการเรียกชื่อที่เปลี่ยนไปกับความเชื่อ ความคาดหวัง และข้อเท็จจริง เริ่มต้นจากตรรกที่ว่า ใครต่อใครในโลกนี้ต่างก็ชื่นชอบไดโนเสาร์ เมื่อพบซากกระดูก หรือร่องรอยที่แปลกตาฝังหรือประทับอยู่กับชั้นหิน คนทั่วไปก็คาดหมายว่า นี่คือสิ่งที่หลงเหลือจากไดโนเสาร์ ดังนั้น รอยตีนสัตว์ที่พบบนหน้าผาหิน ใกล้กับลำน้ำเชิญ ในป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จึงถูกเรียกขานกันว่า “ผารอยตีนไดโนเสาร์”
ต่อเมื่อลุงหมู วราวุธ สุธีธร เซียนไดโนเสาร์ของไทย เข้าไปศึกษาแล้วลงความเห็นว่า นี่ไม่ใช่รอยตีนของไดโนเสาร์ แต่เป็นรอยตีนของสัตว์เลื้อยคลานที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เมื่อตอนต้นของยุคไทรแอสสิก เรียกกันว่า “กิ้งก่าผู้ครองโลก” (archosaurs) “ผารอยตีนไดโนเสาร์” จึงกลายเป็น “ผาอาร์โคซอร์” (ภาพที่ 1) ด้วยประการฉะนี้
ตามที่ได้ติดตามข่าวสารและข้อมูลของการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่นี่ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ทั้งกรมทรัพยากรธรณี และอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ยังจะมีความคิดแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย โดยบางครั้งถึงกับเสนอว่า รอยตีนที่นี่เป็นของอาร์โคซอร์ กลุ่ม “ไฟโตซอร์” ข้าพเจ้าจึงสับสนขึ้นมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ แต่ด้วยความขี้เกียจเปิดดิกชันนารีในการอ่านข้อมูลจากกูเกิ้ล จึงตัดสินใจโทรไปหาลุงหมู วราวุธ เพื่อขอความกระจ่าง ก็ได้ความรู้ว่า “อาร์โคซอร์” เป็นคำเรียกรวมของสัตว์เลื้อยคลานดังที่กล่าวมาแล้วในย่อหน้าก่อน ต่อมาเกิดวิวัฒนาการกลายพันธ์ออกเป็นสองสาย (ภาพที่ 2) คือ กลุ่มไดโนเสาร์ (ภาพที่ 2 สายบน) และกลุ่มจระเข้ (ภาพที่ 2 สายล่าง) จับใจความได้ว่า กลุ่มไดโนเสาร์นั้น จะมีสรีรวิทยาที่เปลี่ยนไป คือมีขาตั้งตรง ทำมุมฉากกับลำตัวในขณะยืน ทำให้เคลื่อนที่ เดินหรือวิ่งได้ชำนาญกว่าบรรพบุรุษ (ภาพที่3) ส่วนกลุ่มจระเข้นั้น ท่าทางการยืนยังเหมือนอาร์โคซอร์ หรือสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป คือขาวางตัวทำมุมกับลำตัว แต่ผิวหนังจะพัฒนากลายเป็นเกล็ดแข็ง และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในกลุ่มจระเข้นี้จะมีกลุ่มย่อยที่ชื่อว่า “ไฟโตซอร์” รวมอยู่ด้วย (ดาวแดงในภาพที่ 2)
ไฟโตซอร์ “เจ้ากิ้งก่าพืช” (phytosaurs) ที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่า ฟอสซิลตัวแรกที่ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1828 นั้น มีซากกระดูกที่ไม่ชัดเจนและครบถ้วนนัก บริเวณฟันของซากดังกล่าวถูกอุดแน่นด้วยโคลนซิลิกา จึงดูเสมือนเป็นฟันตัด ผู้ที่ค้นพบจึงเข้าใจผิดคิดว่านี่คือ กรามและฟันของสัตว์เลื้อยคลานที่กินพืชเป็นอาหาร จึงตั้งชื่อว่า “เจ้ากิ้งก่าพืช” จนอีกประมาณ 40 ปีต่อมา จึงพบความจริงว่า เจ้าหมอนี่ ที่จริงเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างและอุปนิสัยคล้ายจระเข้ และชอบกินปลาเป็นอาหาร แต่นักบรรชีวินวิทยา ก็ยังเรียกชื่อมันว่า กิ้งก่าพืช เหมียนเดิม แบบว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ อย่างงั้นละมั้งครับ แต่ถ้าจะเอาตามความเป็นจริงแล้ว ไฟโตซอร์มีความแตกต่างจากจระเข้หลายประการ ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ โพรงจมูก เพราะว่าสัตว์จำพวกจระเข้และอาร์โคซอร์ดั้งเดิมนั้น จะมีโพรงจมูกที่ปลายของส่วนที่ยื่นออกไปจากปาก (ภาพที่ 4 และ 5)
จากการทำงานที่ผ่านมาของคณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศส เพื่อค้นหาซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง จนถึงปัจจุบัน เราค้นพบฟอสซิลของไฟโตซอร์ในหินตะกอนของหมวดหินห้วยหินลาดเช่นกัน แต่เป็นเพียงเขี้ยวขนาดเล็ก ยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร และพบกระดูกกรามเพียงชิ้นเดียว (ภาพที่ 6) ซึ่งคาดเดาได้ว่าไฟโตซอร์ที่เราพบนั้นจะมีขนาดความยาวประมาณ 1 เมตรกว่าเท่านั้น
การระบุว่ารอยตีนที่พบที่น้ำหนาวเป็นของอาร์โคซอร์นั้น จึงเป็นคำบรรยายที่เหมาะสมที่สุด เพราะว่าลักษณะของรอยตีนที่พบนั้น ไม่เหมือนรอยตีนไดโนเสาร์ ส่วนการที่จะฟันธงว่า นี่คือรอยตีนของไฟโตซอร์นั้น ถือว่าเป็นการด่วนสรุปที่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ เพราะเพียงแค่รอยเท้า ไม่น่าจะระบุได้ว่า นี่เป็นของอาร์โคซอร์ เป็นของบรรพบุรุษจระเข้ หรือไฟโตซอร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่เคยพบหลักฐานว่ามีไฟโตซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เมตร อาศัยอยู่ในทะเลสาบน้ำจืดของไทยเมื่อ 210 ล้านปีมาก่อนเลย
จบท้ายเพื่อให้มีเนื้อหาเข้ากับหัวเรื่องของโพสต์นี้ ที่ว่า “กิ้งก่าพืชผู้น่าสงสาร” ก็ต้องอ้างข้อเท็จจริงที่ว่า ลูกหลานของอาร์โคซอร์กลุ่มจระเข้นั้น เกือบทั้งหมดจะมีวิวัฒนาการและปรากฏตัวอยู่ในโลกจนถึงปัจจุบัน ผิดกับกลุ่มไฟโตซอร์ที่สูญพันธุ์ หายไปจากโลกเมื่อสิ้นอนุยุคนอเรียน (~ 208 ล้านปีก่อน) สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่นักบรรพชีวินวิทยาว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มันหายไปจากโลก ข้าพเจ้าเฝ้าถามไถ่ประดาเซียนทั้งไทยและเทศแล้ว ก็ไม่มีคำตอบ จนกระทั่งข้าพเจ้าเผลอตัวไปถามป้าเมี้ยน แม่ค้าขายกล้วยทอดหน้าหมู่บ้าน ก็ได้ฟังอรรถาธิบายที่ป้าเมี้ยนบอกว่าได้ยินมาจากเจ้าแม่เต่าทองสองหางอีกต่อหนึ่ง ดังนี้
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อ 208 ล้านปีก่อน ได้มีการประกวดนางงามจระเข้โลก ชาวไฟโตซอร์ก็พร้อมใจกันส่งนางสาวกิ้งก่าพืชตัวหนึ่งเข้าประกวดด้วย แต่แค่เพียงรอบแรก ตอนให้ผู้เข้าประกวดทุกตัวออกมาเดินโชว์ตามแคทวอล์ค จระเข้พันธ์อื่นๆ ทั้งหมด เมื่อเห็นนางสาวไฟโตซอร์มีจมูกที่แปลกประหลาด ทั้งขนาดและตำแหน่ง ที่แตกต่างไปจากจระเข้ทั้งโลก ต่างก็พากันหัวเราะ เห็นว่าเป็นเรื่องน่าขำ น่าอำ น่าล้อเลียน นางสาวไฟโตซอร์รู้สึกอับอายมาก จึงร้องไห้และวิ่งหนีออกไปจากเวทีประกวด จากนั้นก็นำเรื่องที่ตนเองถูกหัวเราะเยาะเย้ยไปป่าวประกาศให้เผ่าพันธ์ของตนเองทราบ เมื่อไฟโตซอร์ทั่วโลกทราบเรื่อง ต่างก็พากันโศกเศร้าระทมใจ เกิดความรู้สึกท้อแท้ หดหู่ ต่อความแปลกต่างของพวกตนกับจระเข้ทั่วโลก จากนั้นจึงพากันเป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีกำลังใจที่จะมีขีวิตอยู่ในโลกต่อไป ท้ายที่สุดก็ทะยอยกันล้มตาย จนสูญพันธุ์ไปจากโลกทั้งสิ้น”
ป้าเมี้ยนแกเล่าอย่างนี้จริงๆ นะครับ ท่านสารวัตร อิอิ

รูปที่ 1 ภาพถ่ายจากโดรนของคุณวิศัลย์ โฆษิตานนท์ แสดงหน้าผาหินทรายที่พบรอยตีนอาร์โคซอร์ (รูปแทรก) หน้าผาดังกล่าวเกิดจากชั้นหินทรายที่หนาเพียง 20 เซนติเมตร ชั้นเดียว แต่แผ่กระจายตัวกว้างกว่าสนามฟุตบอล

รูปที่ 2 ภาพแสดงผังของวิวัฒนาการจากอาร์โคซอร์มาเป็น กลุ่ม ไดโนเสาร์และนก กับกลุ่มจระเข้
รูปที่ 3 ภาพเปรียบเทียบแสดงลักษณะการวางตัวของกระดูกขาหลังกับลำตัว ระหว่าง ไดโนเสาร์กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รูปซ้าย) กับสัตว์เลื้อยคลาน (รูปขวา)

รูปที่ 4 ภาพจินตนาการเปรียบเทียบรูปร่าง และตำแหน่งของโพรงจมูก ระหว่าง อาร์โคซอร์ กับไฟโตซอร์

รูปที่ 5 ภาพถ่ายเปรียบเทียบหัวกระโหลกและโพรงจมูก ระหว่าง ตะโขง กับไฟโตซอร์ ทั้งที่มองจากด้านข้าง (รูปบน) กับมองจากด้านบน (รูปล่าง)

รูปที่ 6 ภาพถ่ายกระดูกกรามของไฟโตซอร์ ในหมวดหินห้วยหินลาด ที่โรงไฟฟ้าเขื่อนจุฬาภรณ์ คอนสาร ชัยภูมิ

เรื่องและภาพโดย  Nares Sattayarak | Facebook
Follow us!