×

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย > ข่าวสารและบทความล่าสุด > ธรณีวิทยาไร้พรมแดน (ตอนอวสาน)

ธรณีวิทยาไร้พรมแดน (ตอนอวสาน)

ภาพประกอบเน้นคน ไม่เกีียวกับในเรื่องนะครับ

lerdsin 38. ธรณีวิทยาไร้พรมแดน (ตอนอวสาน)

ในปี 2546 ที่ประชุมใหญ่กำหนดให้ร่วมสำรวจในพื้นที่ Penkalan Huru  – Betong transect  พื้นที่สำรวจฝั่งไทย ครอบคลุมอำเภอเบตง ธารโต และบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ที่พี่อัศนีเคยโดนกองกำลังไม่ทราบฝ่ายจับและกักตัวไว้ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ครั้งแรกคิดว่าแกจะหวาดหวั่น แต่ไม่เลยสำหรับคนชื่ออัศนี มีสุขยังพร้อมนำลุยไปทุกที่ พี่เขาบอกกับทีมงานเสมอว่าใจที่เด็ดเดี่ยวจะสามารถฝ่าฟันได้ทุกอุปสรรค แต่ปัญหาไม่ใช่เรื่องของใจซะแล้ว ทุกคนพร้อมลุยตามลูกพี่ แต่ลูกพี่ก็คำนึงถึงความปลอดภัยของทีมงาน  ข่าวความเคลื่อนไหวของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนเริ่มมากขึ้น สายสืบได้ส่งข่าวมาบอกว่า บ้านตลิ่งชัน ถ้ำทะลุ ตอนใต้เขื่อนบางลางติดชายแดน และอีกหลายจุดห้ามเข้า หลายพื้นที่ที่วางแผนเข้าไปเก็บข้อมูลก็เข้าไม่ได้เลย เหมืองปินเยาะที่บ้านถ้ำทะลุ บันนังสตาร์ ก็เข้าไม่ได้ เหมือนกับว่ากองโจรแบ่งแยกดินแดนกำลังมีการเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง นี่คือสิ่งที่พี่อัศนีกังวลตลอดเวลา

หันมาดูทีมงานทั้งหมด ประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกันมา 3 ปี จากที่มีการวางฟอร์มเก๊กหน้าจะพูดจะจาต้องระมัดระวัง หลังจากที่หัวหน้าทีมทั้งสองเริ่มพูดคุยเป็นภาษาเดียวกัน ทีมสำรวจของไทยและมาเลเซีย กลายเป็นทีมสำรวจเดียวกันอย่างแท้จริง ร่วมมือกันแก้ปัญหาด้านวิชาการตามหลักฐานที่พบ การลำดับชั้นหินต่อเนื่องทะลุชายแดน มั่นใจได้เลยว่าขอบเขตประเทศไม่สามารถกั้นขอบเขตทางธรณีวิทยาได้  ส่วนทรัพยากรแร่พบของใหม่เพียงสายแร่แบไรต์ขนาดเล็กที่ใกล้ด่านศุลกากรเบตง เท่านั้น

จากการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันในฝั่งมาเลเซีย ทำให้รู้ว่า ขณะนั้นเขาไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าพื้นที่แม้แต่จุดเดียว แต่พอมาสำรวจฝั่งไทย เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด  ข้อสังเกตส่วนตัว หลังจากที่โจรจีนยอมวางอาวุธร่วมพัฒนาชาติไทย ปัญหาความไม่สงบในดินแดนมาเลเซียหายหมด ก็เลยคิดว่าถ้าโจรแขกยอมวางอาวุธไปร่วมพัฒนามาเลเซีย ปัญหาความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนของไทยคงจะหมดไปเช่นกัน

4 ปี ที่ได้สำรวจในพื้นที่ชายแดนไทย มาเลเซีย ได้พูดคุยกับชาวบ้านจำนวนไม่น้อย  พอสรุปได้ว่าแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนมีน้อยถึงไม่มีเลย ชาวบ้านอยากมีวิถีชีวิตแบบปัจจุบันนี่แหละ เพราะวิถีไทยให้เสรีภาพทุกอย่าง แต่อยากมีสภาพเศรษฐกิจแบบมาเลเซีย ต้องยอมรับว่าฝั่งมาเลเซียมีสภาพเศรษฐกิจดีกว่า4จังหวัดชายแดนใต้มาก มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปทำงานฝั่งมาเลย์ตอนกลางวันและกลับมานอนฝั่งไทย เพื่อความสะดวกในการเดินทาง เขาจึงมีความจำเป็นต้องถือ 2 สัญชาติ

เหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของทุกศาสนาเห็นใจพวกเราที่มีความตั้งใจทำงานเก็บข้อมูลธรณีวิทยาอย่างจริงจัง ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจในพื้นที่สำรวจเมื่อปลายปี 2546  ต้นปี 2547 เกิดเหตุปล้นค่ายทหารที่ อำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เริ่มครุกรุ่นรุนแรงขึ้นมาใหม่ จนทำให้ โครงการสำรวจธรณีวิทยาร่วมไทย มาเลเซีย ต้องเลื่อนออกไปหลายปี ผมได้รับภารกิจใหม่เลยห่างหายไป มั่นใจว่าน้อง ๆ สามารถสืบทอดภารกิจได้แน่ อาจดีกว่ารุ่นเก่าเสียอีก แต่อดไม่ได้ที่จะติดตามข่าวการดำเนินงานของโครงการนี้มาตลอด มีผลงานทางวิชาการออกมาอย่างต่อเนืองและที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ การค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์ในฝั่งมาเลเซีย ก่อนเกษียณในปี 2556 ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานประชุมวิชาการที่ เมืองบัตเตอร์เวิธท์ รัฐปีนัง ดีใจมากที่ได้พบเพื่อนเก่าครบถ้วน อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพ

ปัจจุบัน ดร.อัศนี มีสุข หัวหน้าคณะทำงานคนแรกฝั่งไทย คุณอิบราฮิม บิน อัมนัน หัวหน้าคณะทำงานคนแรก ฝั่งมาเลเซียและ ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหินแกรนิต คณะทำงานหลักรุ่นแรก ๆ 3 หนุ่ม 2 เชื้อชาติ 3 ศาสนาได้จากไปแล้ว เหลือไว้แต่ตำนานให้เล่าขาน เชื่อว่าพวกเขาคงได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงการรังสรรค์งานธรณีวิทยาตามแนวชายแดน ไทย-มาเลเซีย ให้นักธรณีวิทยารุ่นหลังได้เรียนรู้

จนเป็นที่มาของคำว่า
“Geology beyond frontier.”
“ธรณีวิทยาไร้พรมแดน”  

เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์
12 ตุลาคม 2564

คำเตือน

– บทความนี้ นำมาจากแนวคิดนักวิชาการที่มีการนำเสนอผ่านสื่อที่น่าสนใจ นำมารวบรวมเพื่อใช้ประกอบในการศึกษาด้านธรณีวิทยา และใช้แลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อเรียนรู้ในงานด้านธรณีวิทยา (Geology) ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือประกอบในทางกฏหมายได้ โปรดตรวจสอบความถูกต้องกับแหล่งที่มาข้อมูลอีกครั้ง

Follow us!